ข้ามไปเนื้อหา

ยุทธการที่เซ็กเพ็ก

พิกัด: 29°52′11″N 113°37′13″E / 29.86972°N 113.62028°E / 29.86972; 113.62028
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

29°52′11″N 113°37′13″E / 29.86972°N 113.62028°E / 29.86972; 113.62028

ยุทธการที่ผาแดง
ส่วนหนึ่งของ สามก๊ก

หน้าผาเซ็กเพ็ก หรือ ชื่อปี้ สถานที่เกิดเหตุจริงในปัจจุบันที่มีอักษรจารึกไว้ ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหอเป่ย
วันที่ฤดูหนาว ค.ศ. 208
สถานที่
หน้าผาแดง (ชื่อปี้) ริมแม่น้ำแยงซีเกียง
ผล กองทัพพันธมิตรของเล่าปี่และซุนกวนได้รับชัยชนะ แต่ฝ่ายโจโฉหนีขึ้นเหนือแบบเอาเป็นเอาตาย
คู่สงคราม
ซุนกวน
เล่าปี่
โจโฉ
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
จิวยี่
เทียเภา
เล่าปี่
โจโฉ
กำลัง
50,000 นาย 830,000 นาย[1]
ความสูญเสีย
ไม่ทราบ ไม่ทราบ แต่พอจะทราบได้ว่าสูญเสียไปเป็นจำนวนมาก
แผนที่บริเวณศึก

ยุทธการที่ผาแดง หรือ ศึกผาแดง (อังกฤษ: Battle of Red Cliffs; จีนตัวย่อ: 赤壁之战; จีนตัวเต็ม: 赤壁之戰; พินอิน: Chì bì zhī zhàn) หรือ ศึกเซ็กเพ็ก หรือ ศึกเปี๊ยะเชียะ หรือ ศึกชื่อปี้ (Battle of Chìbì) เป็นสงครามที่มีความสำคัญที่สุดสงครามหนึ่งในยุคปลายราชวงศ์ฮั่นในรัชสมัยของพระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสามก๊กในประเทศจีนในเวลาต่อมา ศึกผาแดงนี้เกิดขึ้นใน ค.ศ. 208 โดยฝั่งหนึ่งเป็นกองทัพพันธมิตรของเล่าปี่และซุนกวนทางตอนใต้ และอีกฝั่งคือทัพของโจโฉทางตอนเหนือ ซุนกวนและเล่าปี่นั้นได้ชัยชนะเหนือโจโฉ ทำให้ความพยายามในการยึดดินแดนทางใต้ของโจโฉต้องล้มเหลวลง โดยจุดแตกหักเกิดขึ้น ณ ตำบลที่เรียกว่า "เซ็กเพ็ก" (ผาแดง) ริมแม่น้ำแยงซีเกียง ศึกผาแดงนี้นับว่าเป็นศึกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในสามก๊กและประวัติศาสตร์จีนก็ว่าได้ โดยมีการบันทึกไว้ในวรรณกรรมสามก๊กถึง 8 บท จากทั้งหมด 120 บท และมีกวีชาวจีนมากมายในชั้นหลังที่ได้จารึกไว้ถึงเหตุการณ์นี้ เช่น หลี่ไป๋[2] ในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน)เรียกตอนนี้ว่า "โจโฉแตกทัพเรือ"[3]

ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของศึกผาแดงยังคงเป็นที่ถกเถียงมาจนถึงปัจจุบัน แม้แต่สถานที่รบยังกำหนดชี้ชัดลงไปไม่ได้ แต่เชื่อกันว่าจุดที่โจโฉถูกเผาทัพเรือนั้น เป็นหน้าผาติดแม่น้ำแยงซีเกียง อยู่ห่างจากเมืองชื่อปี้ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 36 กิโลเมตร ในปัจุบัน โดยสถานที่เกิดเหตุนั้น มีจารึกตัวอักษรสีแดงที่ไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้จารึก แต่เป็นจารึกสมัยราชวงศ์ถัง และเหตุที่ได้ชื่อว่า "ชื่อปี้" (赤壁; ออกเสียง "เซ็กเพ็ก" ตามสำเนียงแต้จิ๋ว) ที่แปลได้ว่า "หน้าผาแดง" ก็คือเปลวไฟที่เผาผลาญกองทัพเรือของโจโฉ[2]

เบื้องหลัง

ในวรรณคดี เล่าปี่ต้องทิ้งเมืองซินเอี๋ยและอ้วนเสียอพยพราษฎรจำนวนมาก เพื่อหนีการตามล่าจากโจโฉไปอยู่ที่เมืองแฮเค้าของเล่ากี๋ จากนั้นจึงส่งขงเบ้งไปเป็นทูตเจรจาขอให้ซุนกวนร่วมกันต้านโจโฉ ขณะที่โจโฉสามารถยึดเกงจิ๋วที่เดิมเป็นของเล่าเปียวได้สำเร็จ เพราะชัวมอคิดทรยศยอมยกเมืองให้โจโฉ ซึ่งภายหลังโจโฉก็สั่งสังหารเล่าจ๋องและชัวฮูหยินเสีย และประหารชัวมอและเตียวอุ๋น ตามแผนของจิวยี่ แม่ทัพใหญ่ฝ่ายง่อก๊ก

ฝ่ายขงเบ้งเมื่อไปถึงกังตั๋ง ต้องเผชิญกับที่ปรึกษาของซุนกวนหลายคนรุมถล่มด้วยวาจา แต่สามารถโต้กลับไปได้ทุกคน ในที่สุดซุนกวนและจิวยี่ก็ตัดสินใจรบกับโจโฉเพราะถูกขงเบ้งยั่วจนเกิดโทสะ ทั้ง 2 ทัพตั้งทัพคอยประจัญบานกัน ตลอดเวลาที่ขงเบ้งอยู่ที่นี่ จิวยี่พยายามหาทุกวิถีทางที่จะหาเรื่องสังหารขงเบ้งให้ได้ แต่ขงเบ้งก็สามารถเอาตัวรอดไปได้ทุกครั้ง เช่น สั่งเกณฑ์ขงเบ้งให้ทำลูกธนูแสนดอกให้เสร็จภายใน 10 วัน แต่ขงเบ้งขอเวลาแค่ 3 วัน โดยการใช้เรือเบาบรรทุกหุ่นฟางแล่นไปหาฝ่ายโจโฉในยามดึกหลังเที่ยงคืนขณะที่หมอกลงจัด ทหารฝ่ายโจโฉจึงระดมยิงธนูเข้าใส่ แต่ก็ติดกับหุ่นฟาง ลูกธนูแสนดอกจึงได้โดยไม่ต้องออกแรงอะไร และอีกครั้งเมื่อจิวยี่ต้องการลมอาคเนย์เพื่อเผาทัพเรือโจโฉ ที่ถูกผูกเป็นแพเดียวกันด้วยอุบายของบังทอง แต่เนื่องจากเป็นฤดูหนาวไม่มีลมอาคเนย์ จิวยี่เครียดกับเรื่องนี้จนกระอักเลือดล้มป่วยลง ขงเบ้งจึงทำพิธีเรียกลมขึ้น (ขงเบ้งแสร้งทำเพื่อหนีลงเรือของจูล่งที่มารับ) ในที่สุดเมื่อถึงวันที่ต้องแตกหัก ตรงกับวันแรม 5 ค่ำ เดือนอ้าย (ตรงกับวันที่ 10 เดือน 10 ตามปฏิทินจีน) ลมอาคเนย์ก็มา ในที่สุดก็สามารถเผากองทัพของโจโฉให้ราบคาบได้ โจโฉต้องหลบหนีไปอย่างทุลักทุเลเกือบเอาชีวิตไม่รอด และขงเบ้งก็ได้ให้กวนอูดักพบโจโฉเป็นด่านสุดท้าย เพื่อที่จะให้กวนอูไว้ชีวิตโจโฉ เพื่อล้างบุญคุณที่เคยมีต่อกันในอดีตด้วย

หลังจากเสร็จสิ้นศึกนี้ ทัพซุนเล่านั้นได้ยึดดินแดนเกงจิ๋วเกือบทั้งหมด โดยทัพจิวยี่สามารถเอาชนะโจหยินยึดเมืองกังเหลงได้ ส่วนเล่าปี่นั้นได้ยึดครองดินแดนเกงจิ๋วใต้ทั้งหมด

การบันทึกในพงศาวดาร

อุยกายเป็นผู้เสนอจิวยี่ให้ใช้แผนสวามิภักดิ์ รวมถึงการใช้เรือไฟ กลอุบายใช้ไฟของอุยกายทำให้ทัพโจโฉพ่ายแพ้ย่อยยับ หลังจากนั้นจิวยี่และเล่าปี่ก็ไล่ตามโจมตีทัพโจโฉที่แตกพ่ายไป และฝ่ายเล่าปี่ก็แยกทัพไปยึดหัวเมืองเกงจิ๋วใต้ ส่วนจิวยี่นั้นทำสงครามกับโจหยินอยู่อีกเกือบปีก็สามารถยึดเกงจิ๋วเหนือได้เกือบทั้งหมด ในศึกครั้งนี้ อุกายได้รับการสรรเสริญชื่นชมอย่างมาก[3]

แต่โจโฉเองไม่ยอมรับผลแพ้ในการศึกครั้งนี้ เขียนจดหมายถึงซุนกวนอ้างว่าตนเองไม่ได้แพ้จิวยี่ แต่เพราะโรคระบาดจึงทำให้ต้องยกทัพกลับ และผู้ที่ออกอุบายเอาธนูจากโจโฉไม่ใช่ขงเบ้ง แต่เป็นซุนกวน เหตุการณ์นี้เกิดภายหลังศึกนี้ถึง 5 ปี (ยุทธการหับป๋า) เมื่อซุนกวนลงเรือไปสอดแนมค่ายโจโฉที่แห้ฝือ แต่ถูกทหารยามจับได้จึงเกิดการปะทะ ในครั้งนั้นทหารโจโฉยิงธนูใส่เรือซุนกวนจนเอียงไปข้างนึง ซุนกวนจึงสั่งให้หันข้างเรือไปรับธนูเพื่อถ่วงให้กลับมาตรงเหมือนเดิม จากนั้นจึงแล่นกลับ[4]

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย

อ้างอิง

  1. "11th century writer's statue erected in Hubei province". Xinhua News Agency, January 19, 1983. Retrieved on July 22, 2007.
  2. 2.0 2.1 "Spirit of Asia : เดินบนแผ่นดินสามก๊ก (10 ม.ค. 59)". ไทยพีบีเอส. 2016-01-10. สืบค้นเมื่อ 2017-06-15.
  3. 3.0 3.1 หน้า 3, "อุยกาย ผู้ชนะศึกผาแดง". "ชักธงรบ" โดย กิเลน ประลองเชิง. ไทยรัฐปีที่ 68 ฉบับที่ 21727: วันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 แรม 9 ค่ำ เดือน 8 ปีระกา
  4. หน้า 12 ต่างประเทศ, ขงเบ้ง' เก่งการรบและกลศึก ? โดย ดร.ประศาสน์ ตั้งมติธรรม. "เข้าใจโลก". กรุงเทพธุรกิจปีที่ 27 ฉบับที่ 9489: วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2557

แหล่งข้อมูลอื่น