ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าตนหลวง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(ต่าง) ←รุ่นเก่ากว่านี้ | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นที่ใหม่กว่า → (ต่าง)
พระเจ้าตนหลวง
ชื่อเต็มพระเจ้าตนหลวงทุ่งเอี้ยงเมืองพะเยา
ชื่อสามัญพระเจ้าตนหลวง
ประเภทพระพุทธรูป
ศิลปะปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน
ความกว้าง14 เมตร
ความสูง16 เมตร
วัสดุปูนปั้น ปิดทอง
สถานที่ประดิษฐานพระวิหาร วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา
ความสำคัญพระพุทธรูปสำคัญ ของจังหวัดพะเยา
หมายเหตุพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

พระเจ้าตนหลวง เป็นพระประธานอยู่ในวิหารวัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2034 ตรงกับรัชสมัยของพญายอดเชียงราย กษัตริย์ล้านนาแห่งราชวงศ์มังราย และสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ พระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าตนหลวงเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ปางมารวิชัย ศิลปะสกุลช่างเชียงแสน เป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในดินแดนล้านนา

พระเจ้าตนหลวงเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองพะเยา เดิมชื่อ พระเจ้าตนหลวงทุ่งเอี้ยงเมืองพะเยา เนื่องจากสร้างขึ้นบริเวณริมหนองเอี้ยง ต่อมาในปี พ.ศ. 2482 กรมประมงได้มีการก่อสร้างประตูกั้นน้ำ ทำให้น้ำแม่อิงและลำห้วยต่าง ๆ เอ่อล้นท่วมหนองเอี้ยงเป็นบริเวณกว้าง จนเกิดเป็นบึงขนาดใหญ่ ซึ่งภายหลังเรียกว่ากว๊านพะเยา ทำให้พระเจ้าตนหลวงประดิษฐานอยู่ริมกว๊านพะเยามาจนถึงทุกวันนี้

ตำนานพระเจ้าตนหลวง

[แก้]

เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จเดินทางออกโปรดสัตว์ในดินแดนสุวรรณภูมิตามตำนานพระเจ้าเลียบโลก ได้เสด็จมาเมืองพะเยา ขณะนั้นมียักษ์ตนหนึ่งไม่ได้กินอะไรมา 7 วัน เห็นพระพุทธเจ้าจึงไล่เลยไปจนเหนื่อย พระพุทธเจ้าจึงประทับรอยพระบาทบนแผ่นหิน ยักษ์คิดในใจว่าชายผู้นี้มีแรงมากแท้ สามารถเหยียบหินให้มีรอยเท้าได้ พระพุทธเจ้าจึงโปรดและให้ยักษ์รับศีลห้าไว้ และตรัสกับพระอานนท์ว่า ยักษ์วิ่งไล่เลย ภายหลังโจรจะมาอยู่ที่นี่และเรียกว่าเวียงเลย และได้พบกับตายายสองผัวเมีย ตายายสองผัวเมียไม่มีข้าวจึงถวายพลูและครกหินตำหมากพลู พระพุทธเจ้าจึงตรัสกับพระอานนท์ว่า ตายายสองผัวเมียได้ถวายพลูและครกหินตำหมากพลู ภายหน้าที่นี่จะเรียกว่าพลูปอ และเมืองนี้จะมีหินมากนัก พระพุทธเจ้าได้เสด็จขึ้นสู่จอมดอยและได้พบกับนายช่างทอง นายช่างทองได้ถวายข้าวปลาอาหารแด่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าฉันเสร็จแล้วได้ลูบพระเศียรประทานพระเกศาให้แก่นายช่างทอง นายช่างทองรับใส่กระบอกไม้รวก ภายหลังคือพระธาตุจอมทอง (ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา) พระพุทธเจ้าทรงกระหายน้ำ รับสั่งให้พระอานนท์ไปตักน้ำตรงหนองตีนดอยมาถวาย พระอานนท์จะตักน้ำแต่พญานาคชื่อธุมมสิกขีขัดขวางและเนรมิตหงอนให้เป็นควันปิดหนองไว้ พระพุทธเจ้าจึงเสด็จไปประทับยืนข้างหนองน้ำ พญานาคจะพ่นควันแผ่พังพอนใส่ แต่ก็เห็นพระวรกายของพระพุทธเจ้าเต็มไปด้วยฉัพพรรณรังสี จึงทูลถามว่าเป็นใคร พระพุทธเจ้าได้แนะนำตัวและแสดงอภินิหารเนรมิตพระวรกายให้ใหญ่เท่ากับพระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า ประทับนั่ง พระวรกายสูง32ศอก และเหยียบพญานาคธุมมสิขีจมลงไปในหนอง พญานาคธุมมสิกขีจึงรีบไปนำก้อนหินที่พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้าเคยประทับนั่งฉันภัตตาหาร มาให้พระพุทธเจ้าประทับนั่งฉันน้ำ พระพุทธเจ้ามีพุทธทำนายว่า ภายหลัง ตายายสองผัวเมียที่ถวายหมากพลูจะได้สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่เท่าพระกกุสันธพุทธเจ้าและสั่งให้พญานาคธุมมสิกขีนำคำ (ภาษาเหนือเรียกทองคำว่า คำ) มามอบให้ตายายสองผัวเมีย

ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้ว พญายอดเชียงรายเป็นกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ พระเมืองยี่เป็นเจ้าเมืองพะเยา ตายายสองผัวเมียที่เคยถวายหมากพลูได้มาเกิดเป็น ตายายสองผัวเมีย ทำอาชีพเลี้ยงเป็ดเลี้ยงห่านขาย พญานาคธุมมสิกขีจึงเนรมิตกายเป็นชายนุ่งขาวห่มขาวนำคำ 420,500 บาท มามอบและบอกให้ตายายสองผัวเมียสร้างสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่เท่าพระกกุสันธพุทธเจ้า และเนรมิตกายตนให้เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่เท่ากับพระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า ประทับนั่ง พระวรกายสูง 32 ศอก และหนีหายไป พ.ศ. ๒๐๓๔ ตายายสองผัวเมียจึงเริ่มถมสระหนองเอี้ยงและทำการปั้นอิฐ ใช้เวลาถึง ๓๓ ปีจึงทำการปั้นองค์พระ ทาปูน ทารัก ปิดทอง สำเร็จใน พ.ศ. ๒๐๖๗ ในรัชสมัยพญาแก้วเป็นกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ พระเมืองตู้เป็นเจ้าเมืองพะเยา พญาแก้วมีศรัทธาสร้างพระวิหารหลวงครอบพระเจ้าตนหลวง กำหนดเขตแดนของวัด และพญาแก้ว พระเมืองตู้ ได้กัลปนาถวายข้าพระ 20 ครัวเรือน ให้เป็นข้าพระเจ้าตนหลวง ตั้งชื่อวัดว่า วัดศรีโคมคำ (เพราะเมื่อแรกสร้างพระเจ้าตนหลวง ตายายสองผัวเมียได้นำทองคำไปผูกกับปลายไม้แล้วปักลงกลางหนองเอี้ยง และประกาศให้คนนำดินมาปาทั้งกลางวันกลางคืน จนดินเต็มหนอง ตอนกลางคืนก็จุด "ผางกม"(ผางประทีบ) เพื่อให้คนได้เห็นคำ จนเป็นที่มาของคำว่า "กมคำ" (จุดกมขว้างคำ)และเป็น สะหรีกมคำ-เพี้ยนเป็น ศรีโคมคำ และ วัดศรีโคมคำในที่สุด)

เทศกาลแปดเป็ง

[แก้]

จังหวัดพะเยาจัดงานนมัสการพระเจ้าตนหลวงขึ้นทุกปี ในเดือนหก หรือเดือนพฤษภาคม ช่วงสัปดาห์วิสาขบูชา เรียกว่าเทศกาลแปดเป็ง แปดเป็งหมายถึงคืนวันเพ็ญในเดือนแปด (นับตามปฏิทินจันทรคติแบบล้านนา) ตรงกับเดือนพฤษภาคม แปดเป็งมีความสำคัญ เกี่ยวเนื่องกับพระเจ้าตนหลวง 5 ประการ ได้แก่

  • เป็นวันที่เริ่มโยนหินก้อนแรกลงถมหนองเอี้ยง (กว๊านพะเยาในปัจจุบัน) เพื่อปรับปรุงพื้นที่ใช้สำหรับก่อปูนขึ้นเป็นองค์พระ
  • เป็นวันเริ่มก่อสร้างองค์พระเจ้าตนหลวง
  • เป็นวันที่สร้างองค์พระเสร็จสมบูรณ์
  • เป็นวันเฉลิมฉลององค์พระครั้งแรก
  • เป็นประเพณีที่ชาวบ้านถือปฏิบัติเป็นประจำทุกปี ในช่วงวันวิสาขบูชาหรือวันแปดเป็ง

เทศกาลแปดเป็ง จัดขึ้นภายในวัดศรีโคมคำ ช่วงกลางวันมีการทำบุญฉลององค์พระเจ้าตนหลวง พระประธานในวิหาร ช่วงกลางคืนมีการออกร้านขายของและมหรสพต่าง ๆ นอกจากงานเทศกาลแปดเป็งภายในวัดศรีโคมคำแล้ว สัปดาห์วันวิสาขบูชาของจังหวัดพะเยา นอกจากทางวัดศรีโคมคำจะมีงานนมัสการพระเจ้าตนหลวงในช่วงดังกล่าวแล้ว วัดติโลกอาราม ซึ่งเป็นวัดที่จมอยู่ใต้กว๊านพะเยา ยังมีพิธีเวียนเทียนกลางน้ำในช่วงวันวิสาขบูชา ถือเป็นงานเทศกาลที่จัดขึ้นใกล้กัน นักท่องเที่ยวสามารถชมความงามของวัดศรีโคมคำ พระเจ้าตนหลวง กว๊านพะเยาและพิธีเวียนเทียนกลางน้ำของวัดติโลกอารามได้ในช่วงเวลาเดียวกัน

ตราสัญลักษณ์จังหวัดพะเยา

[แก้]

พระเจ้าตนหลวง ถือเป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำเมือง จึงมีการอัญเชิญไว้ในตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัด

ตราสัญลักษณ์จังหวัดพะเยา

อ้างอิง

[แก้]