ข้ามไปเนื้อหา

พิธีเปิดโอลิมปิกฤดูร้อน 2024

พิกัด: 48°51′24″N 2°21′8″E / 48.85667°N 2.35222°E / 48.85667; 2.35222
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พิธีเปิดโอลิมปิกฤดูร้อน 2024
วันที่26 กรกฎาคม พ.ศ. 2567; 7 วันก่อน (2567-07-26)
เวลา19:30 – 23:15 CEST (UTC+2)[1]
สถานที่ฌาร์แด็งดูว์ทรอกาเดโร
แม่น้ำแซน
ที่ตั้งปารีส, ฝรั่งเศส
พิกัด48°51′24″N 2°21′8″E / 48.85667°N 2.35222°E / 48.85667; 2.35222
ถ่ายทำโดยหน่วยบริการกระจายเสียงแพร่ภาพโอลิมปิก (โอบีเอส)

พิธีเปิดโอลิมปิกฤดูร้อน 2024 จัดขึ้นในวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ที่ ปารีส เริ่มเวลา 19:30 น. CEST (17:30 UTC ) ตามที่กำหนดในกฎบัตรโอลิมปิก การดำเนินพิธีการจะรวมถึงการแสดงศิลปวัฒนธรรมของประเทศและเมืองเจ้าภาพ ขบวนพาเหรดของนักกีฬา และการจุดไฟในกระถางคบเพลิงโอลิมปิก โดยแอมานุแอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เป็นผู้กล่าวเปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการ

พิธีนี้นับเป็นโอลิมปิกครั้งแรกตั้งแต่โอลิมปิกเยาวชนฤดูร้อน 2018 ที่จัดนอกสนามกีฬา ทั้งนี้ การเดินขบวนพาเหรดนักกีฬา พิธีการ รวมถึงการแสดงส่วนใหญ่ จัดขึ้นในสถานที่สำคัญหลายแห่งในปารีส รวมถึงแม่น้ำแซน ขณะที่พิธีการหลักจัดขึ้นในสนามกีฬาชั่วคราวที่ฌาร์แด็งดูว์ทรอกาเดโร พิธีเปิดนี้ประกอบด้วยสิบสองช่วง อันเป็นการฉลอง 130 ปี คณะกรรมการโอลิมปิกสากล, ครบรอบ 100 ปี โอลิมปิกฤดูร้อน 1924 และครบรอบ 235 ปี การปฏิวัติฝรั่งเศส

การเตรียมการ

[แก้]

การวางแผนพิธีเปิดมีขึ้นในปี 2566 โดยมีการฝึกซ้อมบางอย่างในสถานที่ไม่เปิดเผยก่อนงาน ในขณะที่การแสดงอื่น ๆ จะเกิดขึ้นในสถานที่จัดงาน การถ่ายทำชุดแรกเสร็จสิ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 และคาดว่ามีกล้อง 130 ตัวที่จะถ่ายทอดสดพิธี[2] งานนี้จะออกอากาศไปยังจอยักษ์ 80 จอตลอดเส้นทางแม่น้ำแซน [3] กำกับโดยนักแสดงละครเวทีและผู้กำกับ โทมัส จอลลี โดยเป็นพิธีเปิดครั้งแรกที่จัดขึ้นนอก สนามกีฬาโอลิมปิก [3] [4]

เดิมทีผู้เข้าร่วมโดยไม่ต้องซื้อบัตรคาดว่าจะมีจำนวนมากกว่า 500,000 คน [2] และ 100,000 คนสำหรับผู้ชมซื้อบัตรเข้าชมที่ท่าเรือตอนล่างของแม่น้ำ [5] รวมเป็น 600,000 คน [6] ตัวเลขดังกล่าวคิดเป็น "อัตราส่วนการเข้าชม 3 คนต่อ" 1 ตารางเมตร (11 ตารางฟุต)[5] อย่างไรก็ตาม หลังจากคำแนะนำในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 โดยรัฐมนตรีกระทรวงกีฬา โอลิมปิก และพาราลิมปิกของฝรั่งเศส ว่าควรจำกัดผู้ชมที่ไม่ต้องซื้อบัตรไว้ที่ระหว่าง 300,000 ถึง 400,000 คน อีกทั้งหลังจากมีข้อกังวลเพิ่มเติมด้านความปลอดภัยและการขนส่ง ตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือ 300,000 ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 [5] ในช่วงปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 มีการลดจำนวนลงอีก เนื่องจากหน่วยรักษาความปลอดภัยต้องการให้จัดพิธีในสนามกีฬาเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินมาตรการรักษาความปลอดภัย [7] อัฒจันทร์จะทอดยาวจากห้องสมุดฟร็องซัว มีแตร็อง ไปยังหอไอเฟล[5]

ผู้ชมจะนั่งตามริมฝั่งแม่น้ำแซนเป็นระยะทาง 6 กิโลเมตร (3.7 ไมล์) ทอดยาวไปตามริมฝั่งแม่น้ำ[2] [3] ทีมงานทั้งหมดของพิธีมีประมาณ 6,000 ถึง 8,000 คน รวมถึงการรักษาความปลอดภัยในช่วงวันก่อนถึงพิธี ในจำนวนนี้รวมถึงนักแสดง 2,000 คน[2] บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการแสดงในแม่น้ำ ทางอากาศ และบนฝั่ง รวมทั้งหมด 45,000 คน โดยเฉลี่ย 3,750 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร (0.39 ตารางไมล์) [7] ตัวเลขนี้ไม่รวมเจ้าหน้าที่ประมาณ 2,000 คนที่จำเป็นในการตรวจสอบเต็นท์ทางเข้าของผู้ถือตั๋วแบบชำระเงินและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่ตั้งอยู่บนท่าเทียบเรือยกระดับตลอดงาน [7] นักแสดงและนักกีฬาจะเดินทางในแม่น้ำจากปงเดาส์แตลิทซ์ไปยังปงดีเยนาหน้าหอไอเฟล เพื่อเดินทางต่อไปยังฌาร์แด็งดูว์ทรอกาเดโร ซึ่งเป็นสถานที่จัดพิธีการหลัก[6]

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 มีการเปิดจำหน่ายบัตรเข้าชมพิธี โดยมีราคาตั้งแต่ 90 ยูโร (80 ปอนด์/99 ดอลลาร์) ถึง 2,700 ยูโร (2,390 ปอนด์/2,960 ดอลลาร์) [8] โดยอย่างหลังมีราคาแพงที่สุดเมื่อนับรวมทุกอีเวนต์ในการแข่งขัน [9]

อัฒจันทร์ริมฝั่งแม่น้ำแซน

ในพิธีมีเรือ 160 ลำ[10] โดยมีประมาณ 58 ลำที่มีส่วนร่วมในการฝึกซ้อมย่อยซึ่งดำเนินการในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 โดยบรรทุกคณะนักกีฬา ทีมงานโทรทัศน์ และบริการฉุกเฉิน [4] ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 มีเรือจำนวน 116 ลำจากบริษัทขนส่ง 42 แห่งที่ได้รับการลงทะเบียน โดยคาดว่าร้อยละ 98 ของเรือทั้งหมดเป็นเรือจากปารีส และส่วนที่เหลือมาจากบริษัทเรือในภูมิภาค เช่น Highfield Boats ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนในท้องถิ่น[8]

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 คณะกรรมการจัดการแข่งขันประกาศว่า จำนวนผู้เข้าชมลดลงครึ่งหนึ่งจากแผนเดิม 600,000 คน เป็น 300,000 คน โดยสองในสามเป็นผู้เข้าชมที่ได้รับบัตรอันไม่เสียค่าใช้จ่าย[11][12] ซึ่งเป็นที่นั่งริมฝั่งใกล้กับระดับถนน ส่วนบัตรที่เสียค่าใช้จ่ายนั้นจะได้นั่งริมฝั่งใกล้กับผืนน้ำ[13] บัตรเข้าชมที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายจะแจกให้กับครอบครัวที่มีรายได้น้อย, บุคคลในวงการกีฬา, เยาวชน, และผู้มีส่วนจัดการแข่งขันโอลิมปิก[14] ทั้งนี้ ตามแผนที่วางไว้ก่อนหน้า จะไม่มีการแจกบัตรเข้าชมฟรีให้กับนักท่องเที่ยว[15]

การซ้อมพิธีเปิดในวันที่ 24 มิถุนายน ต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากกระแสแม่น้ำแซนที่ไหลเชี่ยว[16] และกลับมาซ้อมอีกครั้งในวันที่ 16 กรกฎาคม[17]

แผนแรกของคณะกรรมการจัดการแข่งขันคือให้ผู้แทนของแต่ละประเทศเดินทางด้วยบัลลูนอากาศร้อน ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ของฝรั่งเศส เข้าสู่สถานที่จัดพิธีการหลัก อีกทั้งมีฉากจำลองพระเศียรของอดีตพระมหากษัตริย์และจักรพรรดิฝรั่งเศส โผล่พ้นเหนือผิวน้ำ เสมือนได้ทอดพระเนตรขบวนพาเหรดด้วย แต่ข้อเสนอดังกล่าวได้ตกไป[18] โทมัส จอลลี และนักเขียนอีกสี่คน ใช้เวลาเก้าเดือนในการเขียนบทการแสดงพิธีเปิด[19] โดยมีแก่นเรื่องหลักคือ "ความรัก" และ "ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่"[18]

การรักษาความปลอดภัย

[แก้]

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 หลังความกังวลด้านความปลอดภัยที่เกิดจาก การรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย สงครามอิสราเอล–ฮะมาส และการแทงคนในโรงเรียนอาร์ราส ทั้งรัฐบาลฝรั่งเศสและคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกแห่งปารีส 2024 (COJOP2024) ระบุว่าไม่มีแผนอย่างเป็นทางการที่จะย้ายสถานที่จัดพิธีเปิดโดยระบุว่า "แผน A คำนึงถึงภัยคุกคามทั้งหมด" Oudéa-Castréa ระบุใน BFM TV ว่าพวกเขาให้ความสนใจกับบริบท และรัฐบาลกำลังดำเนินการเกี่ยวกับ "ตัวแปรในการปรับเปลี่ยน" โดยต้องการรักษารูปแบบเดิมไว้ [5] ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 ประธานาธิบดีมาครงกล่าวว่าพิธีนี้มีหลายสถานการณ์ ในกรณีของเหตุการณ์ความมั่นคงที่สำคัญซึ่งอาจบังคับให้พิธีย้ายจากแม่น้ำแซน สำหรับสิ่งนี้ COJOP2024 ระบุว่าพวกเขามี "แผนฉุกเฉินสำหรับสถานการณ์ความเสี่ยงที่ระบุทั้งหมด เช่น คลื่นความร้อน การโจมตีทางไซเบอร์ และพิธีนี้ก็ไม่มีข้อยกเว้น" [6]

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 มีการประกาศว่าทุกอาคารในรัศมีริมฝั่งแม่น้ำแซนต้องเข้าร่วมมาตรการป้องกันการก่อการร้าย[20] มีการปิดสถานที่หลายแห่งใกล้แม่น้ำแซน ซึ่งรวมถึงพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ และพิพิธภัณฑ์ออร์แซ[20]

ฝ่ายจัดพิธีเปิดได้ปิดสะพานข้ามแม่น้ำแซนตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม และเริ่มเข้มงวดกฎระเบียบมากขึ้นในอีกสิบวันต่อมา[21][22] โดยการปิดถนนบางส่วนไม่ให้รถและประชาชนสัญจร[22] และปิดสนามบินในรัศมี 90 ไมล์ (140 กิโลเมตร) ระหว่างพิธีเปิด อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอีก 45,000 คน ประจำการด้วย โดยในจำนวนนี้รวมถึงตำรวจต่างชาติ 2,000 คน[23]

ในวันงาน ผู้เข้าชมหลายคนต้องรอคิวยาว ทางเข้าบางจุดเปิดช้ากว่ากำหนดเดิมมากกว่าหนึ่งชั่วโมง เนื่องจากอุปกรณ์ตรวจบัตรเข้าชมมีไม่เพียงพอ[24]

พิธีการและการวิ่งคบเพลิง

[แก้]

ขบวนพาเหรดแห่งชาติ ซึ่งนักกีฬาที่เข้าร่วม 10,500 คนจะเดินขบวนแยกตามคณะผู้แทน[3] กำหนดจัดขึ้นที่ แม่น้ำแซน ส่วนพิธีการอื่น ๆ จะจัดขึ้นที่ฌาร์แด็งดูว์ทรอกาเดโร[1] [25] การแสดงในพิธีเปิดแบ่งเป็น 12 องก์ ตามประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส[18] ทั้งนี้ นับเป็นขบวนในแม่น้ำแซนขนาดใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่พระราชพิธีเสกสมรสระหว่างเจ้าหญิงเอลีซาเบ็ต–หลุยส์ พระราชธิดาในพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 กับเฟลีเป ดยุกแห่งปาร์มา ในปี ค.ศ. 1739[18] ประธานาธิบดีมาครงกล่าวว่านี่คือการแสดงที่สื่อให้เห็นถึง "การปลดปล่อยและความเป็นอิสระ" อันรวมถึงการเล่าเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศสและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งปฏิญญาดังกล่าวลงนาม ณ ปาแลเดอชาโย ที่อยู่ด้านหลังฌาร์แด็งดูว์ทรอกาเดโร[19]

เจราลด์ ดาร์มาแนง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยฝรั่งเศส คาดการณ์ว่าจะต้องมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 25,000 นาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 35,000 นายจะประจำการในสถานที่จัดพิธีเปิด [8][1]

การวิ่งคบเพลิงโอลิมปิก สำหรับเปลวไฟโอลิมปิก ใช้เวลาทั้งสิ้น 80 วัน โดยเริ่มจากกรีซ แล้วเดินทางด้วยเรือไปยังเมืองมาร์แซย์ จากนั้นจะเคลื่อนผ่านมง-แซ็ง-มีแชล พระราชวังแวร์ซาย และ แคริบเบียนฝรั่งเศส ก่อน จนถึงพิธีจุดคบเพลิง[4] พิธีจุดเพลิงโอลิมปิกจัดขึ้นที่ เมืองโอลิมเปีย ประเทศกรีซ เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2567 [26] จากนั้นเดินทางผ่านกรีซอีก 10 วัน และส่งมอบให้กับ COJOP2024 ในวันที่ 26 เมษายน ที่ สนามกีฬาพานาธิเนอิก ใน กรุงเอเธนส์ จากนั้นมีการนำไฟโอลิมปิกบรรทุกเรือใบเบเลม พร้อมกับขบวนเรืออีก 1,000 ลำ เดินทางออกจากไพรีอัสถึงเมืองมาร์แซย์ในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2567[27] [28]

ลำดับพิธี

[แก้]

โปรแกรม

[แก้]
แผนที่
ตำแหน่งของการแสดงแต่ละองก์ตามแนวแม่น้ำแซน:
1
Prologue
2
Enchanté
3
Synchronicité
4
Liberté
5
Egalité
6
Fraternité
7
Sororité
8
Sportivité
9
Festivité
10
Obscurité
11
Solidarité
12
Solennité
13
Eternité

พิธีการเริ่มต้นในเวลา 19.30 น. ตามเวลาออมแสงยุโรปกลาง ท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาตลอดพิธี ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่โอลิมปิกฤดูร้อน 1952 ที่เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์[29]

ปฐมบท

[แก้]

พิธีเปิดเริ่มต้นด้วยการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกช่วงสุดท้ายซึ่งมีการบันทึกวิดีโอไว้ล่วงหน้า โดยญาเมล เดอบุซ นักแสดงตลกได้วิ่งคบเพลิงมายังสตาดเดอฟร็องส์ ก่อนจะพบว่าสนามนั้นไม่มีผู้ชมและพิธีการมิได้จัดในสถานที่ดังกล่าว ซีเนดีน ซีดาน รับคบเพลิงต่อจากเขาและวิ่งผ่านย่านชุมชน ซีดานพบกับเด็กสามคน อันแสดงถึงโอลิมปิกครั้งที่สามของปารีส เขาวิ่งต่อไปยังปารีสเมโทร แต่พบว่ารถไฟฟ้าขัดข้องไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ จึงจำต้องส่งคบเพลิงไปให้เด็กทั้งสามนั้นเดินทางโดยเรือผ่านสุสานใต้ดินและใต้โรงอุปรากรปาแลการ์นีเย

เด็กทั้งสามพบกับคนสวมหน้ากากถือคบเพลิงซึ่งเป็นตัวแทนของอาร์แซน ลูแปง, ปีศาจแห่งโรงอุปรากร, จิตวิญญาณโอลิมปิก และรวมถึงเซกวานา เทพธิดาแห่งแม่น้ำแซน คนสวมหน้ากากนี้มียังลักษณะคล้ายกับตัวละครในเกมอัสแซสซินส์ครีด ยูนิตี อันมีฉากหลังอยู่ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งผลิตโดยยูบิซอฟต์ บริษัทสัญชาติฝรั่งเศส[30] เด็กทั้งสามขึ้นเรือเพื่อเดินทางสู่โลกภายนอก ภาพตัดไปยังบรรยากาศสดที่อัฒจันทร์ทรอกาเดโร ซึ่งโทมัส บัค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล และแอมานุแอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส รออยู่ก่อนแล้ว ผู้ชมแสดงการปรบมือเพื่อต้อนรับทั้งสอง จากนั้นเรือของเด็กทั้งสามมาถึงแม่น้ำแซน ขณะที่ชายสวมหน้ากากเฝ้ามองพวกเขาจากหลังคาอาคารริมแม่น้ำนั้น อันเป็นการเชื่อมโยงการแสดงและพิธีการต่าง ๆ ตลอดงานนี้

เรือของผู้แทนกรีซ ชาติแรกในขบวนพาเหรด

เวลา 19.30 น. มีการแสดงไพโรเทคนิคสีธงชาติฝรั่งเศสและน้ำพุที่ปงเดาเตอลิทซ์ อันเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนพาเหรดแห่งชาติทางเรือ โดยเริ่มจากกรีซ ตามด้วยนักกีฬาผู้ลี้ภัย และชาติอื่น ๆ เรียงตามอักษรภาษาฝรั่งเศส จนถึงบาห์เรน เป็นอันจบช่วงปฐมบท ทั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการผสมผสานขบวนพาเหรดกับการแสดงทั้งริมฝั่งและบนเรือ

ความยินดี (Enchanté)

[แก้]

เลดีกากาในชุดของดียอร์และนักเต้นแปดคนขึ้นแสดงในโชว์ที่ได้แรงบันดาลใจจากคาบาเรต์[31] ตามด้วยพาเหรดคณะผู้แทนจากบังคลาเทศจนถึงจีน โดยมีนักเต้นและนักกายกรรมแสดงบนเรือที่ตกแต่งคล้ายกับสวนลอยน้ำล่องขนานไปกับขบวนพาเหรด

ความบังเอิญ (Synchronicité)

[แก้]

การแสดงในช่วงนี้สื่อให้เห็นถึงการบูรณะอาสนวิหารน็อทร์-ดามจากเหตุเพลิงไหม้เมื่อห้าปีก่อนหน้านั้น และการผลิตเหรียญรางวัลโอลิมปิก รวมถึงการบรรจุลงกล่องที่ทำขึ้นโดยหลุยส์ วิตตอง ทั้งนี้ ไมเคิล เฟ็ลปส์ ได้ร่วมแสดงในส่วนนี้ด้วย

เสรีภาพ (Liberté)

[แก้]

การแสดงส่วนที่สามมีชื่อว่า "เสรีภาพ" เริ่มต้นที่เปลือกอาคารกงซีแยร์เฌอรี เพื่อระลึกถึงการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งอ้างถึงการสำเร็จโทษมารี อ็องตัวแน็ต ด้วยการบั่นพระเศียรโดยใช้กิโยตีน และวรรณกรรมเลมีเซราบล์ ซึ่งมีการนำเพลง "ดูยูเฮียร์เดอะพีเพิลซิง?" ซึ่งประกอบละครเพลงจากนิยายดังกล่าว มาใช้เปิดช่วงนี้ ในส่วนต่อมาเป็นการเต้นซึ่งสื่อให้เห็นความรักที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงแอลจีบีที และการมีคนรักหลายคน ทั้งนี้ มีการนำกวีนิพนธ์จากนักเขียนชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียง เช่น กี เดอ โมปาซ็อง และมอลีแยร์ เป็นต้น มาใช้ประกอบการแสดงนี้ด้วย

เสมอภาค (Égalité)

[แก้]

ในส่วนนี้เป็นการแสดงของวงดุริยางค์กองกำลังป้องกันสาธารณรัฐ และอายะ นากามุระ บนสะพานปงเดซาร์

ภารดรภาพ (Fraternité)

[แก้]
อัฒจันทร์หน้าพิพิธภัณฑ์ออร์แซ

การแสดงในส่วนนี้เริ่มต้นด้วยการบรรเลง "ระบำมรณะ" ผลงานของ กามีย์ แซ็ง-ซ็องส์ ซึ่งอ้างอิงถึงการโจรกรรมโมนาลิซาจากลูฟวร์ ตามด้วยพาเหรดคณะผู้แทนจากไซปรัสจนถึงกาบอง คั่นด้วยการบรรเลงผลงานของมอริส ราแวล ด้วยเปียโน จากนั้นเป็นพาเหรดคณะผู้แทนจากแกมเบียจนถึงจาเมกา

ช่วงต่อมาผู้ถือคบเพลิงปริศนาได้เดินทางต่อไปยังพิพิธภัณฑ์ออร์แซ เพื่อรำลึกถึงพี่น้องลูมิแยร์และฌอร์ฌ เมเลียส รวมถึงวรรณกรรมเจ้าชายน้อย ประกอบการบรรเลงคีตกรรมลาพร็องตีซอร์ซีเย จากนั้นปรากฎภาพกล้องโทรทัศน์สีเหลืองของสถานีอวกาศนานาชาติ ส่องไปยังเรือดำน้ำของเหล่ามินเนี่ยนจากแฟรนไชส์ภาพยนตร์ "มิสเตอร์แสบ ร้ายเกินพิกัด" ซึ่งเป็นผลงานของอิลลูมิเนชันเอ็นเตอร์เทนเมนต์ พวกมันกำลังทำท่าทางคล้ายกีฬาที่แข่งในโอลิมปิก และมีการเผยว่าเป็นผู้ขโมยภาพโมนาลิซาจากลูฟวร์ หลังจากเรือดำน้ำระเบิดจากความวุ่นวายของเหล่ามินเนี่ยน วัตถุจำลองของภาพดังกล่าวได้ลอยขึ้นมาบนผิวแม่น้ำแซน จากนั้นบนหลังคากร็องปาแล Axelle Saint-Cirel นักร้องเสียงโซปราโน ผู้สวมชุดจากดียอร์ ซึ่งเป็นตัวแทนของมารียาน บุคลาธิษฐานแห่งฝรั่งเศส ได้ขับร้องเพลงชาติ "ลามาร์แซแยซ"

ภคินีภาพ (Sororité)

[แก้]

ในส่วนนี้เป็นการยกย่องสตรีที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศส จากนั้น Saint-Cirel ได้ขับร้องท่อนที่หกของเพลงชาติพร้อมกับคณะประสานเสียง

การกีฬา (Sportivité)

[แก้]

ส่วนนี้เริ่มต้นด้วยขบวนผู้แทนนักกีฬาจากญี่ปุ่นจนถึงนอร์เวย์ ประกอบดนตรีบารอก และการแสดงโดยแร็ปเปอร์

งานฉลอง (Festivité)

[แก้]
เรือของคณะผู้แทนจากสหรัฐ

การแสดงส่วนนี้จัดขึ้นที่สะพานแดร์บิลี เพื่ออุทิศแก่วงการแฟชั่นของฝรั่งเศส ขบวนพาเหรดทางเรือเริ่มต้นจากผู้แทนของนิวซีแลนด์จนถึงซิมบับเว ตามด้วยออสเตรเลีย เจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน 2032 และสหรัฐ เจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน 2028 จากนั้นผู้ถือคบเพลิงปริศนาข้ามสะพานแดร์บิลี และมีการตัดภาพไปยังตาฮีตี สถานที่จัดกีฬาโต้คลื่น

หลังจากนั้นมีการแสดงเรือดนตรี โดยเริ่มจากเพลง "เดอะไฟนอลเคาท์ดาวน์" ของวงยุโรป เพื่อสื่อถึงการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ตามด้วยการแสดงเพลงแนวยูโรแดนซ์ จากนั้นเป็นการปิดท้ายขบวนพาเหรดด้วยเรือของฝรั่งเศสเจ้าภาพ ทั้งนี้ มีการนำเพลงจากศิลปินและคีตกวีชาวฝรั่งเศส เช่น "ฌีมนอเปดี หมายเลขหนึ่ง" โดย เอริก ซาตี และ "เลิฟดอนต์เลตมีโก" โดย ดาวีด แกตา เป็นต้น มาใช้ประกอบการแสดงในช่วงนี้ด้วย

ความมืดมิด (Obscurité)

[แก้]

ต่อเนื่องจากส่วนก่อนหน้า ดนตรีและการเต้นเปลี่ยนไปในโทนรุนแรงมากขึ้น พร้อมการฉายภาพภัยพิบัติต่าง ๆ และนักเต้นค่อย ๆ ทรุดลงกับพื้นจนครบทุกคน จากนั้นมีการบรรเลงและขับร้องเพลง "อิแมจิน"

ความสามัคคี (Solidarité)

[แก้]

ในส่วนนี้เปิดด้วยผู้แสดงหญิงสวมเกราะเงิน มีธงโอลิมปิกคลุมหลัง ขี่ม้ากลสีโลหะในลักษณะเดียวกับฌาน ดาร์ก ล่องไปตามแม่น้ำแซน อันสื่อถึง ปีแยร์ เดอ กูแบร์แต็ง และประวัติศาสตร์โอลิมปิก ระหว่างการเดินทางดังกล่าวมีการฉายภาพการแข่งขันโอลิมปิกครั้งที่ผ่านมา พร้อมด้วยอาสาสมัครถือธงชาติที่เข้าร่วมการแข่งขันเข้าสู่สนามทรอกาเดโร จากนั้นหญิงสวมเกราะเงินขี่ม้าสีขาวมายังบริเวณพิธี นำธงโอลิมปิกอีกผืนเพื่อไปยังเสาใกล้กับอัฒจันทร์ประธาน ทหารกองทัพฝรั่งเศสเชิญธงดังกล่าวขึ้นสู่ยอดเสาพร้อมการบรรเลงและขับร้องเพลงสดุดีโอลิมปิกโดยวงดุริยางค์แห่งชาติและคณะนักร้องประสานเสียงวิทยุฝรั่งเศส

พิธีการ (Solennité)

[แก้]

หลังจากการมอบรางวัลโอลิมปิกลอเรล และการกล่าวต้อนรับของประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันกับประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้กล่าวเปิดการแข่งขัน จบแล้วเป็นการปฏิญาณตนของนักกีฬา, ผู้ตัดสิน และผู้ฝึกสอน หลังจากนั้นเป็นการวิ่งคบเพลิงในช่วงสุดท้าย โดย ซีเนดีน ซีดาน รับคบเพลิงต่อจากชายสวมหน้ากากที่โผล่ขึ้นกลางสนามทรอกาเดโร จากนั้นส่งต่อไปยังราฟาเอล นาดัล ซึ่งเดินทางไปลงเรือที่ คาร์ล ลูวิส, เซเรนา วิลเลียมส์ และนาดียา กอเมอเนช รออยู่ก่อนแล้ว เพื่อล่องไปยังสถานที่จุดคบเพลิง ในระหว่างนี้มีการแสดงดนตรีและแสงสีที่หอไอเฟล เมื่อเรือมาถึงท่าใกล้ลูฟวร์ อเมลี โมเรสโม, โทนี ปาร์กเกอร์ และนักกีฬาพาราลิมปิกชาวฝรั่งเศสอีกสามคน ได้รับช่วงต่อการวิ่งคบเพลิงเพื่อนำไปสู่ช่วงสุดท้ายของพิธี

ความเป็นนิรันดร์ (Éternité)

[แก้]
คบเพลิงโอลิมปิกที่ฌาร์แด็งเดตุยเลอรี

คบเพลิงเดินทางมาถึงฌาร์แด็งเดตุยเลอรี เหล่านักกีฬาในตำนานของฝรั่งเศสได้ส่งต่อไปยัง เท็ดดี้ ไรเนอร์ และมารี-โฮเซ่ เปเรช เพื่อจุดในกระถางคบเพลิงวงแหวนใต้บัลลูนอากาศร้อน อันประกอบด้วยหลอดไฟแอลอีดี 40 ดวง และหัวฉีดละอองน้ำแรงดันสูง 200 ตัว คบเพลิงได้ลอยสูงจากพื้น 30 เมตร อันเป็นการระลึกถึงการขับเคลื่อนบัลลูนอากาศร้อนครั้งแรกของพี่น้องมงกอลฟีเยในสถานที่ดังกล่าวเมื่อ 241 ปีก่อน คบเพลิงนี้มีสายตรึงกับพื้นป้องกันการลอยออกจากที่ตั้ง และจะดึงกลับมาบนพื้นในช่วงกลางวัน คบเพลิงนี้เป็นครั้งแรกของโอลิมปิกที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์โดยตรง

หลังจากนั้น เซลีน ดิออน ได้ขับร้องเพลง "อีมนาลามูร์" ผลงานของเอดิต ปียัฟ จากชั้นหนึ่งของหอไอเฟล เป็นการเสร็จสิ้นพิธีเปิดในเวลา 23.29 น.

การแสดง

[แก้]
เซลีน ดิออน และเลดีกากา (ภาพในปี พ.ศ. 2555 และ 2564 ตามลำดับ)

เลดีกากา[32] และเซลีน ดิออน ร่วมแสดงในพิธีนี้ เฉพาะดิออนซึ่งขับร้องเพลง "อีมนาลามูร์" ของเอดิต ปียัฟ ที่หอไอเฟลนั้น นับเป็นการแสดงสดครั้งแรกตั้งแต่เธอประกาศว่าตนเองป่วยเป็นโรคคนแข็งเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565[33]

เพลงในพิธีการ

[แก้]

ผู้เข้าร่วมพิธี

[แก้]

ชาติเจ้าภาพ

[แก้]

สมาชิกคณะกรรมการโอลิมปิกสากลและองค์กรอันเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการโอลิมปิก

ผู้นำประเทศและผู้แทนจากนานาชาติ

[แก้]

ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 "France unveils security plan for Olympics opening ceremony in central Paris". France 24 (ภาษาอังกฤษ). 2023-05-24. สืบค้นเมื่อ 2023-06-25.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Lloyd, Owen (2023-09-20). "Paris 2024 Opening Ceremony preparations to be finalised by end of year". Inside the Games. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-09-21. สืบค้นเมื่อ 2023-12-21.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Delorme, Anne-Claire (2023-07-10). "Paris 2024 opening ceremony: why you (really) shouldn't miss it?". Explore France. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-09-29. สืบค้นเมื่อ 2023-12-21.
  4. 4.0 4.1 4.2 "Seine-sational? Paris rehearses waterborne opening ceremony for 2024 Olympics". France24. Agence France-Presse. 2023-07-17. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-07-17. สืบค้นเมื่อ 2023-12-21.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 Lepeltier, Nicolas; Le Coeur, Philippe (2023-11-02). "Paris 2024 opening ceremony: Authorities consider admitting around 300,000 spectators for free". Le Monde. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-11-02. สืบค้นเมื่อ 2023-12-21.
  6. 6.0 6.1 6.2 Pretot, Julien (2023-12-21). "Paris 2024 has contingency plans for opening ceremony". Reuters. Reuters. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-12-21. สืบค้นเมื่อ 2023-12-21.
  7. 7.0 7.1 7.2 Daffunchio Picazo, Raúl (2023-12-28). "Paris 2024: From a big opening for all to a small one for some". Inside the Games. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-12-29. สืบค้นเมื่อ 2023-12-31.
  8. 8.0 8.1 8.2 Burke, Patrick (2023-04-23). "Paris 2024 reveals flotilla of boats signed up for historic Opening Ceremony along Seine". Inside the Games. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-04-25. สืบค้นเมื่อ 2023-12-31.
  9. Muñana, Gustavo (2023-11-23). "Olympics-Paris 2024 to sell 400,000 tickets next week, 7.2 million already sold". Inside the Games. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-11-25. สืบค้นเมื่อ 2023-12-31.
  10. "France prepared to change plans on 2024 Olympics opening based on security". Reuters. Reuters. 2023-12-20. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-12-21. สืบค้นเมื่อ 2023-12-21.
  11. Fewer fans allowed at Paris opening ceremony
  12. France downsizes Paris 2024 opening ceremony crowd to around 300,000 spectators
  13. 326,000 tickets for Paris Olympics opening ceremony, minister says
  14. Paris begins sharing out free tickets for Olympics' opening ceremony
  15. Paris won’t allow tourists free access to Olympics opening ceremony along the Seine River
  16. Paris Olympics opening ceremony rehearsal postponed due to strong Seine flow
  17. "Paris Olympic opening rehearsal on fast-flowing Seine set for July 16". The Local. 2024-06-13.
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 Porter, Catherine (2024-07-24). "When the Paris Olympics Begin, the Seine Is His Stage". The New York Times. ISSN 1553-8095. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-07-25. สืบค้นเมื่อ 2024-07-25.
  19. 19.0 19.1 Hird, Alison (26 July 2024). "'We need this moment of peace' say Olympic opening ceremony storytellers". Radio France Internationale. สืบค้นเมื่อ 26 July 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  20. 20.0 20.1 Daffunchio Picazo, Raúl (28 April 2024). "Buildings along the Seine will have extra anti-terrorism protection in Paris". Inside the Games. สืบค้นเมื่อ 22 July 2024.
  21. Mawad, Dalal (2024-04-16). "Emmanuel Macron says Olympic Opening Ceremony could be changed in case of terrorism threat". CNN (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2024-07-22.
  22. 22.0 22.1 "Olympic Games Opening Ceremony: security perimeters activated on July 18". www.paris.fr (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2024-07-22.
  23. Ewe, Koh (2024-07-05). "Everything to Know About the History-Making Paris 2024 Olympics Opening Ceremony". TIME. ISSN 0040-781X. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-07-24. สืบค้นเมื่อ 2024-07-25.
  24. McGowan, Elliot (2024-07-26). "Paris 2024 Opening Ceremony: Ticketing issues, long queues reported". Inside the Games. สืบค้นเมื่อ 2024-07-26.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  25. Newcomb, Tim (2023-06-20). "Paris 2024 Floats New Approach For Opening Ceremony Stadium". Forbes (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2023-06-25.
  26. Paphitis, Nicholas (2024-04-16). "Despite weather glitch, the Paris Olympics flame is lit at the Greek cradle of ancient games". AP News (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2024-04-16.
  27. "News Access Rules Applicable to the Olympic Torch Relay of the Games of the XXXIII Olympiad Paris 2024" (PDF). International Olympic Committee (PDF). 2023-11-26. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-12-22. สืบค้นเมื่อ 2023-12-21.
  28. "Olympic flame reaches France for 2024 Paris Olympics aboard a 19th century sailing ship" (ภาษาอังกฤษ). CBS News.com. May 8, 2024. สืบค้นเมื่อ May 8, 2024.
  29. Leicester, John (2024-07-26). "Paris Olympics kicks off with ambitious but rainy opening ceremony on the Seine River". WCAV. Associated Press. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-07-27. สืบค้นเมื่อ 2024-07-27.
  30. "Assassins Creed? Who was the masked torchbearer at the 2024 Paris Olympics Opening Ceremony?". WMAQ-TV. 2024-07-26. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-07-27. สืบค้นเมื่อ 2024-07-27.
  31. "Lady Gaga dazzles at Olympics opening ceremony with prerecorded French performance". Associated Press. Associated Press. 2024-07-26. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-07-26. สืบค้นเมื่อ 2024-07-27.
  32. Jazz Monroe, Matthew Strauss. "Lady Gaga, Celine Dion, Gojira, and More Perform at Paris 2024 Olympics Opening Ceremony: Watch". Pitchfork. สืบค้นเมื่อ 27 July 2024.
  33. Ellise Shafer, Elsa Keslassy (26 July 2024). "Celine Dion Gives Emotional Performance on Eiffel Tower at the Olympics Opening Ceremony". Variety. สืบค้นเมื่อ 26 July 2024.