ข้ามไปเนื้อหา

ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ธงชาติฟิลิปปินส์"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
FireDragonValo (คุย | ส่วนร่วม)
ป้ายระบุ: แก้ไขจากอุปกรณ์เคลื่อนที่ แก้ไขจากเว็บสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่
InternetArchiveBot (คุย | ส่วนร่วม)
Rescuing 1 sources and tagging 0 as dead.) #IABot (v2.0.9.3
บรรทัด 191: บรรทัด 191:
| url-status = dead
| url-status = dead
}}
}}
* [http://www.gov.ph เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของรัฐบาลสาธารณรัฐฟิลิปปินส์]
* [http://www.gov.ph เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของรัฐบาลสาธารณรัฐฟิลิปปินส์] {{Webarchive|url=https://web.archive.org/web/20120101105754/http://www.gov.ph/ |date=2012-01-01 }}


{{ธงชาติประเทศทวีปเอเชีย}}
{{ธงชาติประเทศทวีปเอเชีย}}

รุ่นแก้ไขเมื่อ 18:08, 21 มกราคม 2566

ธงชาติฟิลิปปินส์
การใช้ธงชาติ ensign
สัดส่วนธง1:2
ประกาศใช้12 มิถุนายน ค.ศ. 1898 (126 ปี)
ลักษณะธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบ่งตามยาว ครึ่งบนสีน้ำเงิน ครึ่งล่างสีแดง ที่ด้านคันธงเป็นรูปสามเหลี่ยมสีขาว ภายในมีรูปดวงอาทิตย์มีรัศมี 8 แฉก ล้อมด้วยดาวห้าแฉกสีทอง 3 ดวง
ออกแบบโดยเอเมลิโอ อากีนาลโด
การใช้ธงชาติ ensign
สัดส่วนธง1:2
ลักษณะลักษณะคล้ายธงข้างต้น แต่สลับเอาสีแดงขึ้นมาไว้ข้างบน ส่วนสีน้ำเงินอยู่ข้างล่าง เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าประเทศอยู่ในภาวะสงคราม
ออกแบบโดยคำสั่งฝ่ายบริหารเลขที่ 321 ลงนามโดย ประธานาธิบดีเอลปิดิโอ กีริโน

ธงชาติฟิลิปปินส์ (ตากาล็อก: Pambansang Watawat ng Pilipinas) มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 1 ส่วน ยาว 2 ส่วน ตอนต้นธงเป็นรูปสามเหลี่ยมสีขาว ภายในมีรูปดวงอาทิตย์รัศมี 8 แฉก ล้อมด้วยดาวห้าแฉก 3 ดวง ตามมุมของรูปสามเหลี่ยม รูปเหล่านี้เป็นสีทอง ส่วนทีเหลือของธงนั้นเป็นแถบแบ่งครึ่งตามด้านยาวของธง ครึ่งบนพื้นสีน้ำเงิน ครึ่งล่างพื้นสีแดง หากแถบทั้งสองสีนี้สลับตำแหน่งกัน คือ แถบสีแดงอยู่บน แถบสีน้ำเงินอยู่ตอนล่าง แสดงว่าประเทศฟิลิปปินส์อยู่ในภาวะสงคราม

การออกแบบ

สัดส่วน

ธงชาติฟิลิปปินส์มีความยาวเป็นสองเท่าของความกว้างธง ซึ่งเมื่อแปลงเป็นอัตราส่วนจะเท่ากับ 1:2 ส่วนความยาวของรูปสามเหลี่ยมสีขาวแต่ละด้านเท่ากับความยาวของด้านกว้างของธง รูปดาวแต่ละดวงนั้นอยู่ในตำแหน่งมุมของรูปสามเหลี่ยม โดยที่จุดยอดของรูปดาวนั้นชี้เข้าหาจุดยอดมุมของรูปสามเหลี่ยมแต่ละมุมนั้น[1]

แบบการสร้างธงชาติฟิลิปปินส์

สำหรับสีของธงชาติ ได้มีการระบุไว้ในรัฐบัญญัติแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์เลขที่ 8491 โดยใช้ตัวเลขระบุชนิดสีตามระบบที่พัฒนาขึ้นโดย Color Association of the United States [1][2] ทั้งนี้ แบบสีธงอย่างเป็นทางการเมื่อเทียบกับระบบสีอื่นๆ ได้แสดงไว้ในตารางเบื้องล่างต่อไปนี้[3]

ระบบสี สีน้ำเงิน สีแดง สีขาว สีทอง
Cable No. 80173 80108 80001 80068
Pantone 286 186 n.a. 116
RGB 0-56-168 206-17-38 255-255-255 252-209-22
CMYK C100-M60-Y0-K5 C0-M90-Y65-K10 n.a. C0-M18-Y85-K0
HEX #0038A8 #CE1126 #FFFFFF #FCD116

การใช้เป็นธงสงคราม

ประเทศฟิลิปปินส์มิได้มีการกำหนดธงชัยหรือธงสงคราม (war flag) แยกเป็นการเฉพาะอย่างที่นิยมกันในหลายประเทศ โดยใช้ธงชาติเพียงอย่างเดียวในวัตถุประสงค์ดังกล่าวด้วย โดยธงชาติฟิลิปปินส์จะเป็นเครื่องหมายแสดงออกถึงภาวะสงครามของประเทศเมื่อมีการแสดงธงโดยให้แถบสีแดงอยู่ทางด้านบน หรือแถบสีแดงอยู่ทางด้านซ้ายของสายตาผู้มองธงเมื่อแสดงธงแบบแขวนแนวตั้ง[1] ส่วนในยามปกตินั้นจะให้แถบสีน้ำเงินอยู่ทางด้านบนของธง ตัวอย่างของการแสดงธงกลับด้านเช่นนี้ปรากฏในประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ช่วงแห่งการปฏิวัติฟิลิปปินส์ในปี ค.ศ. 1896 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และธงบางส่วนที่ผู้ประท้วงขับไล่ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ที่รุมล้อมวังมาลากันญังชูขึ้นเป็นสัญลักษณ์ในการปฏิวัติเอ็ดซา เมื่อ ค.ศ. 1986[1]

ความหมาย

รายละเอียดของดวงอาทิตย์ในธงชาติฟิลิปปินส์

จากเอกสารของทางราชการฟิลิปปินส์ ได้ระบุความหมายของสัญลักษณ์ในธงชาติไว้ว่า สามเหลี่ยมสีขาวเป็นเครื่องหมายแทนความเสมอภาคและภราดรภาพ พื้นสีน้ำเงินหมายถึงสันติภาพ สัจจะ และความยุติธรรม และพื้นสีแดงหมายถึงความรักชาติและความมีคุณค่า[4] รูปดวงอาทิตย์มีรัศมีแปดแฉกหมายถึงแปดจังหวัดแรกของประเทศ อันได้แก่ จังหวัดบาตังกาส, จังหวัดบูลาคัน, จังหวัดคาวิเต, จังหวัดลากูนา, จังหวัดมะนิลา, จังหวัดนูเอวา เอคิยา, จังหวัดปัมปังกา และจังหวัดตาร์ลัค ซึ่งพยายามเรียกร้องเอกราชจากสเปนและฝ่ายสเปนได้บังคับใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่เหล่านั้นเมื่อเริ่มเหตุการณ์การปฏิวัติฟิลิปปินส์ในปี ค.ศ. 1896[5] ดาวสามดวงหมายถึงการแบ่งพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของประเทศออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ เกาะลูซอน เกาะมินดาเนา และหมู่เกาะวิสายัน [5]

อย่างไรก็ตาม ในคำประกาศเอกราชของฟิลิปปินส์ ค.ศ. 1898 ได้นิยามความหมายของธงชาติต่างไปจากปัจจุบัน โดยระบุว่าสีขาวเป็นสัญลักษณ์แทนสมาคมคาติปูนัน (Katipunan) ซึ่งเป็นสมาคมลับที่ต่อต้านการปกครองของจักรวรรดินิยมสเปน สำหรับสีแดงและสีน้ำเงินกำหนดขึ้นจากสีของธงชาติสหรัฐอเมริกาเพื่อแสดงออกถึงความซาบซึ้งที่สหรัฐอเมริกาให้ความคุ้มครองชาวฟิลิปปินส์ในการต่อต้านสเปนในช่วงการปฏิวัติฟิลิปปินส์ ส่วนดาวสามดวงในธง ในคำประกาศเอกราชได้กล่าวว่าดาวดวงหนึ่งในสามดวงนั้นหมายถึงเกาะปานาย ไม่ใช่หมู่เกาะวิสายัน[6]

ประวัติ

ธงขบวนการปฏิวัติ

นับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1960 ได้เริ่มมีการเชื่อมโยงโดยทั่วไปว่าพัฒนาการของธงชาติฟิลิปปินส์มีต้นกำเนิดมาจากธงประจำกองกำลังของผู้นำแต่ละคนในสมาคมคาติปูนัน ซึ่งเป็นองค์กรปฏิวัติลักษณะคล้ายคลึงกับองค์กรฟรีเมสัน มีจุดมุ่งหมายในการต่อต้านอำนาจการปกครองของสเปนและชี้นำการปฏิวัติฟิลิปปินส์[7] อย่างไรก็ตาม แม้สัญลักษณ์บางอย่างจะถูกกำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องหมายสัญลักษณ์แห่งการปฏิวัติก็ตาม แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าธงประจำกองกำลังเหล่านี้สมควรถือเป็นต้นกำเนิดของธงชาติฟิลิปปินส์หรือไม่[7]

ธงแบบแรกของสมาคมคาติปูนันเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแดง มีอักษร "K" สีขาว 3 ตัว เรียงกันตามแนวนอน อักษรดังกล่าวนี้เป็นอักษรย่อจากชื่อเต็มของสมาคมคาติปูนันในภาษาตากาล็อก Kataas-taasang Kagalang-galangang Katipunan ng mga Anak ng Bayan ("คาตาอัส-ตาอาซัง คากาลัง-กาลันกัง คาติปูนัน นัง มกา อานัก นัง บายัน" แปลว่า สมาคมสูงสุดและอันเป็นที่นับถือแห่งบุตรของชาติ) พื้นสีแดงของธงหมายถึงเลือด เนื่องจากสมาชิกของคาติปูนันได้ลงนามในเอกสารยืนยันความเป็นสมาชิกกลุ่มด้วยเลือดของตนเอง[7]

ผู้นำหลายคนในคาติปูนันต่างมีธงประจำกองกำลังของตนเองใช้ เช่น อันเดรส โบนีฟาซีโอ, มารีอาโน ลาเนรา, ปีโอ เดล ปีลาร์ เป็นต้น องค์การคาติปูนันในจังหวัดคาวิเต 2 กลุ่มคือกลุ่มมักดิวัง ("Magdiwang") และกลุ่มมักดาโล ("Magdalo") ต่างก็กำหนดแบบธงของกลุ่มตนเองใช้ โดยทั้งสองกลุ่มใช้ธงพื้นสีแดงรูปตะวันสีขาวเช่นกัน แต่แทนที่ทั้งสองกลุ่มจะใช้อักษรย่อ "K" ที่ใจกลางดวงตะวันตามชื่อสมาคมในอักษรโรมัน สมาคมเหล่านั้นกลับใช้อักษรที่ออกเสียง "คา" ในระบบการเขียนบายบายอิน (baybayin) ซึ่งเป็นระบบการเขียนก่อนยุคสเปนปกครอง

สมาคมคาติปูนันได้กำหนดธงแบบใหม่ขึ้นในปี ค.ศ. 1897 ระหว่างการประชุมสมาชิกครั้งหนึ่งในเมืองนาอิก จังหวัดคาวิเต (Naic, Cavite) ธงแบบใหม่นี้เป็นธงพื้นสีแดง มีรูปดวงอาทิตย์ปรากฏใบหน้ามนุษย์สีขาว รูปดังกล่าวนั้นมีรัศมี 8 แฉก หมายถึงจังหวัดทั้งแปดซึ่งสเปนได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกเพื่อปราบปรามผู้ที่ก่อการกบฏต่อสเปน

แบบธงปัจจุบัน

(ซ้าย) เอมีลีโอ อากีนัลโด ผู้ออกแบบธงชาติฟิลิปปินส์แบบปัจจุบัน (ขวา) มาร์เซลา มารีโญ เด อากอนซีญา ผู้เย็บธงชาติฟิลิปปินส์ผืนแรก
หนึ่งในธงชาติฟิลิปปินส์ยุคร่วมสมัยการปฏิวัติฟิลิปปินส์ที่เหลือรอดมาจนถึงปัจจุบัน ที่พื้นสีฟ้ามีการเติมข้อความปลุกใจด้วยภาษาสเปน "¡¡¡VIVA LA REPUBLICA FILIPINA VIVA!!!" ("สาธารณรัฐฟิลิปปินส์จงเจริญ!")

แบบธงชาติฟิลิปปินส์ในสมัยใหม่ได้ถูกกำหนดแนวคิดในการออกแบบโดย เอมีลีโอ อากีนัลโด (ผู้ซึ่งต่อมาจะได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ที่ 1) ในระหว่างลี้ภัยทางการเมืองที่เกาะฮ่องกงเมื่อ ค.ศ. 1897 ต่อมาธงผืนแรกตามแบบของอากีนัลโดได้ถูกเย็บขึ้นโดย มาร์เซลา มารีโญ เด อากอนซีญา โดยมีลอเรนซา ผู้เป็นลูกสาวของเธอ และเดลฟีนา เอร์โบซา เด นาตีวีดัด หลานสาวของ โฮเซ รีซัล เป็นผู้ช่วยเย็บธง

ธงชาติฟิลิปปินส์ได้โบกสะบัดอย่างเป็นทางการระหว่างพิธีประกาศเอกราชฟิลิปปินส์ในวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1898 ที่เมืองคาวิต จังหวัดคาวีเต (Kawit, Cavite)[8] อย่างไรก็ดี บทความหนึ่งในหนังสือพิมพ์มะนิลาไทมส์ ซึ่งเขียนโดยออกุสโต เด วีอานา (Augusto de Viana) หัวหน้านักวิจัยแผนกประวัติศาสตร์ สถาบันประวัติศาสตร์แห่งชาติฟิลิปปินส์ ได้กล่าวถึงการยืนยันในตำราประวัติศาสตร์หลายฉบับและการจัดพิธีรำลึกในหลายคราว ซึ่งระบุว่าธงชาติได้โบกสะบัดครั้งแรกในวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1898 ที่อาลาปัน เมืองอีมุส จังหวัดคาวิเต (lapan, Imus, Cavite) ทั้งนี้ โดยอ้างถึงคำสั่งประธานาธิบดีเลขที่ 374 (Presidential Proclamation No. 374) ซึ่งตราโดยประธานาธิบดี ดิออสดาโด มากาปากัล เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1965[9] เนื้อความในบทความดังกล่าวได้พยายามอ้างว่าบันทึกทางประวัติศาสตร์บ่งชี้ถึงการแสดงธงชาติฟิลิปปินส์ครั้งแรกว่าเกิดขึ้นในเมืองคาวิเต ซิตี เมื่อนายพลอากีนัลโดได้แสดงธงนี้ขึ้นระหว่างการสู้รบครั้งแรกในการปฏิวัติฟิลิปปินส์

ความหมายดั้งเดิมของธงชาติได้ถูกแจกแจงไว้โดยละเอียดในเนื้อความของคำประกาศอิสรภาพ ซึ่งได้อ้างอิงจากแบบภาพร่างที่ได้แนบไว้ด้วยกัน แม้จะไม่ปรากฏบันทึกว่ามีแบบร่างดังกล่าวปรากฏอยู่จริงหรือไม่ก็ตาม[7] ทั่งนี้ ในแบบดั้งเดิมของธงชาติ ได้ยอมรับการใช้รูปดวงอาทิตย์มีรูปใบหน้ามนุษย์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์ในเชิงเทววิทยา ให้ปรากฏบนธงชาติ เนื่องจากรูปดังกล่าวถือเป็นสัญลักษณ์ที่มีการใช้ทั่วไปในบรรดาอดีตอาณานิคมของสเปน สำหรับโทนสีฟ้า/น้ำเงินที่แท้จริงของธงแบบดั้งเดิมนั้น แหล่งข้อมูลต่างๆ มีการกล่าวถึงในทำนองที่ขัดแย้งกัน นักประวัติศาสตร์ได้กล่าวค้านว่าสีธงที่แท้จริงของแบบธงดั้งเดิมควรเป็นสีแดงและสีน้ำเงินแบบเดียวกับที่ใช้ในธงชาติคิวบา โดยอ้างอิงจากหลักฐานในเชิงเกร็ดประวัติศาสตร์และผืนธงในช่วงเวลาร่วมสมัยที่เหลือรอดมาจำนวนน้อยนิด[7]

แบบของธงชาติคิวบาได้ส่งอิทธิพลมายังการออกแบบธงชาติฟิลิปปินส์ เนื่องจากการก่อการปฏิวัติต่อต้านสเปนในคิวบาได้เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่จุดประกายให้เกิดการปฏิวัติฟิลิปปินส์ขึ้น

ธงชาติฟิลิปปินส์ ตามแบบดั้งเดิมของเอมีลีโอ อากีนัลโด
อนุสาวรีย์สามสตรีผู้เย็บธงชาติฟิลิปปินส์ผืนแรก ที่มหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ เมืองเกซอนซิตี้
ธงชาติฟิลิปปินส์ในที่ประชุมคองเกรสแห่งมาโลโลส ค.ศ. 1898

เมื่อความเป็นอมิตรระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐอเมริกาได้ก้าวสู่จุดแตกหักในปี ค.ศ. 1899 ธงชาติฟิลิปปินส์จึงได้ถูกชักขึ้นในลักษณะที่กลับเอาสีแดงขึ้นด้านบนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1899 เพื่อประกาศว่าประเทศได้เข้าสู่ภาวะสงคราม ผลสงครามจบลงด้วยการที่ประธานาธิบดีเอมีลีโอ อากีนัลโด ถูกฝ่ายสหรัฐอเมริกาจับเป็นเชลยและถูกบังคับให้สาบานว่าจะภักดีต่อสหรัฐอเมริกาในอีกสองปีต่อมา

จากการที่สาธารณรัฐฟิลิปปินส์จบลงด้วยความพ่ายแฟ้ต่อสหรัฐอเมริกา ประเทศฟิลิปปินส์จึงถูกปกครองด้วยระบบอาณานิคมของสหรัฐอเมริกา และการแสดงธงชาติฟิลิปปินส์ได้ถูกประกาศให้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตามรัฐบัญญัติว่าด้วยการต่อต้านรัฐบาล ค.ศ. 1907 (Sedition Act of 1907) กฎหมายดังกล่าวนี้ต่อมาได้ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1919[7] เมื่อมีการอนุญาตให้ใช้ธงชาติฟิลิปปินส์ในเวลานั้น ผ้าสีแดงและสีน้ำเงินที่ขายตามห้างร้านขายผ้าต่างๆ ส่วนมากเป็นสีตามแบบของธงชาติสหรัฐอเมริกา ฉะนั้นธงชาติฟิลิปปินส์นับตั้งแต่ ค.ศ. 1919 เป็นต้นมาจึงใช้สีแดงและน้ำเงินตามแบบธงชาติสหรัฐอเมริกา (สีน้ำเงินในธงดังกล่าวเป็นสีชนิดที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า "สีเนวีบลู") สภานิติบัญญัติฟิลิปปินส์ได้ผ่านรัฐบัญญัติเลขที่ 2928 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 1920 เพื่อให้ธงชาติฟิลิปปินส์เป็นธงอย่างเป็นทางการสำหรับหมู่เกาะฟิลิปปินส์ทั้งหมด ส่วนการฉลองวันธงชาติ (Flag Day) ของฟิลิปินส์ในระยะนั้นจนถึงช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการฉลองเป็นประจำในวันที่ 30 ตุลาคมของทุกปี อันเป็นวันที่กฎหมายห้ามการใช้ธงชาติฟิลิปปินส์ได้ถูกยกเลิก

เมื่อถึงสมัยของการปกครองตนเองภายใช้ชื่อประเทศเครือรัฐฟิลิปปินส์ (Commonwealth of the Philippines) ซึ่งเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1935 ประธานาธิบดีมานูเอล เกซอน ได้ออกคำสั่งฝ่ายบริหารเลขที่ 23 (Executive Order No. 23) ลงวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1935 เพื่อระบุลักษณะของธงในเชิงเทคนิคโดยละเอียด [7] ในข้อกำหนดต่างๆ ของกฎหมายชุดนี้ ได้มีการบัญญัติให้รูปสามเหลี่ยมที่ด้านต้นธงเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า สัดส่วนความกว้างต่อความยาวโดยรวมเป็น 1:2 ตำแหน่งมุมและองศาที่แน่นอนของรูปดวง ลักษณะทางเรขาคณิตและสุนทรียศาสตร์ของรูปดวงอาทิตย์ และการยกเลิกรูปหน้ามนุษย์ในดวงอาทิตย์ออกอย่างเป็นทางการ ทว่าแบบสีของธงที่แน่นอนนั้นหาได้มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนในกฎหมายฉบับนี้ไม่ การระบุลักษณะธงเหล่านี้ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงและมีผลบังคับใช้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาในปี ค.ศ. 1941 ได้มีการย้ายวันธงชาติอย่างเป็นทางการจากวันที่ 30 ตุลาคม มาเป็นวันที่ 12 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันที่ฟิลิปปินส์ประกาศเอกราชครั้งแรกจากสเปนในปี ค.ศ. 1898

ธงชาติฟิลิปปินส์ได้ถูกห้ามใช้อีกครั้งเมื่อญี่ปุ่นกรีฑาทัพเข้ารุกรานและยึดครองหมู่เกาะฟิลิปปินส์ในต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. 1941 และถูกชักขึ้นอีกครั้งพร้อมกับการสถาปนาสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ที่ 2 ซึ่งญี่ปุ่นเป็นผู้ให้การสนับสนุน ในพิธีการซึ่งถูกจัดขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1943 อดีตประธานาธิบดีเอมีลีโอ อากีนัลโด ได้ชักธงชาติซึ่งใช้สีเลียนแบบธงชาติคิวบาขึ้นอีกครั้ง ธงดังกล่าวยังคงถูกชักโดยให้แถบสีฟ้าอยู่ด้านบนตามปกติจนกระทั่งประธานาธิบดีโฮเซ ลอเรล ประกาศสถานะรัฐในภาวะสงครามต่อประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรในปี ค.ศ. 1944 ส่วนรัฐบาลเครือรัฐฟิลิปปินส์พลัดถิ่นซึ่งลี้ภัยไปอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของสหรัฐอเมริกา ยังคงใช้ธงชาติฟิลิปปินส์ตามสีแบบธงชาติสหรัฐอเมริกาเช่นเดิม และใช้ในลักษณะที่กลับเอาสีแดงขึ้นด้านบนนับตั้งแต่การถูกญี่ปุ่นรุกรานมาโดยตลอด ด้วยการต่อสู้ของกองกำลังผสมฟิลิปปินส์-สหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1944 และการปลดปล่อยฟิลิปปินส์ในปี ค.ศ. 1945 ธงชาติฟิลิปปินส์ตามแบบสีธงของอเมริกาได้ถูกนำกลับมาใช้บนแผ่นดินฟิลิปปินส์อีกครั้ง และธงดังกล่าวนี้เองคือแบบธงที่ได้ถูกชักขึ้นในพิธีส่งมอบเอกราชจากสหรัฐอเมริกาสู่ประเทศฟิลิปปินส์ในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1946

การเปลี่ยนแปลงแบบธง

สีธง

รัศมีดวงอาทิตย์

ธงซึ่งใช้เป็นเครื่องหมายอำนาจการปกครองประเทศ

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "Republic Act No. 8491". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-05. สืบค้นเมื่อ 2009-06-08. (archived from the original เก็บถาวร 2007-12-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน on 2007-12-05).
  2. "Dictionary of Vexillology:C". Flags of the World. สืบค้นเมื่อ 2007-06-06.
  3. "Philippines". Vexilla Mundi. สืบค้นเมื่อ 2007-06-06.
  4. "Flag and Anthem". The Official Website of the Republic of the Philippines. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-24. สืบค้นเมื่อ 2007-06-06.
  5. 5.0 5.1 "Flag of Philippines". CIA World Factbook. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-13. สืบค้นเมื่อ 2007-06-06.
  6. "Declaration of Philippine Independence". สืบค้นเมื่อ 2007-06-06.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 Quezon, Manuel L. III (2002-04-02). "History of the Philippines Flag". Flags of the World. สืบค้นเมื่อ 2007-06-06.
  8. Renato Perdon (2010). Footnotes to Philippine History. Universal-Publishers. p. 38. ISBN 9781599428420.
  9. Augusto de Viana (May 28, 2008). "Where was the Filipino Flag first unfurled?". the Manila Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-24. สืบค้นเมื่อ 2008-05-28.

แหล่งข้อมูลอื่น